ห้องที่ไม่เหมาะกับการใช้ผนังเบาคือห้องน้ำ เพราะน้ำอาจซึมเข้าไปภายในโครงคร่าวทางรอยต่อระหว่างแผ่นได้ แม้จะมีการปูกระเบื้องทับและทากันซึมดีอย่างไร เมื่อเวลาผ่านไป น้ำก็มีโอกาสซึมผ่านเข้าไปและทำให้โครงคร่าวเสียหายได้ นอกจากนี้ยังไม่เหมาะกับห้องที่มีการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิต่างกันมากระหว่างภายในกับภายนอก หรือห้องที่มีความชื้นมาก เช่น ห้องแช่ไวน์ อิฐมวลเบาไม่เบานะ บางคนคิดว่าอิฐมวลเบาคือผนังเบาชนิดหนึ่ง ในความเป็นจริงแล้วผนังอิฐมวลเบากลับไม่เบาอย่างที่คิดแต่มีน้ำหนักใกล้เคียงกับผนังก่ออิฐฉาบปูน เพราะต้องมีการฉาบเพื่อแต่งผิวเหมือนกัน ผนังอิฐมวลเบาจึงเหมาะสำหรับผนังภายนอก เนื่องจากมีคุณสมบัติแข็งแรง กันเสียง และกันความร้อนได้ดีกว่าผนังเบา ผนังเบาต้องมีโครงแข็งแรง ควรใช้โครงคร่าวเหล็กชุบสังกะสีที่มีความหนาอย่างน้อย 0.55 มิลลิเมตร มีขนาดหน้าตัดเล็กที่สุด 52 30 มิลลิเมตร และใหญ่ที่สุด 94 30 มิลลิเมตร ทั้งโครงคร่าวตัวตั้งและตัวนอน แผ่นยิปซัมหรือไฟเบอร์ซีเมนต์ที่นำมาติดตั้งควรหนาอย่างน้อย 12 มิลลิเมตร ระยะห่างโครงคร่าวไม่ควรเกิน 60 เซนติเมตร โครงคร่าวเหล็กชุบสังกะสีต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม โดยตรวจสอบกับบริษัทผู้ผลิตที่เชื่อถือได้
สำหรับพุกที่ใช้ยึดกับโครงสร้างอาคารหรือพื้นควรเป็นพุกเหล็ก Expansion Bolt หากต้องการความแข็งแรงมากขึ้น ก็สามารถเลือกใช้โครงคร่าวเหล็กที่มีขนาดหน้าตัดใหญ่ขึ้น หรืออาจเพิ่มความหนาของแผ่นผนังเป็น 15 มิลลิเมตร นอกจากนี้ยังสามารถร่นระยะห่างโครงคร่าวจาก 60 เซนติเมตรเป็น 40 เซนติเมตรได้ กั้นดี มีสุข การกั้นห้องต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลัก เช่น หากห้องมีขนาดใหญ่มากและต้องการแบ่งพื้นที่เป็นห้องเล็กๆ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ขนาดของห้องที่แบ่งต้องไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป เหมาะสมกับการใช้งานและจำนวนคน สำหรับห้องนอนควรมีขนาด 33 เมตรเป็นอย่างน้อยทางเดินภายในบ้านต้องกว้างอย่างน้อย 1 เมตร นอกจากนี้แต่ละห้องควรมีหน้าต่างที่เปิดออกสู่ภายนอกเพื่อระบายอากาศและรับแสงสว่างได้ เพิ่มคุณสมบัติให้ผนังเบา ผนังเบามีคุณสมบัติในการป้องกันความร้อนและเสียงน้อยกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน การเพิ่มฉนวนกันความร้อน (ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหน้าที่กันเสียงได้ด้วย) เข้าไปที่ช่องว่างระหว่างโครงคร่าวและปิดทับด้วยแผ่นวัสดุปิดผนังตามปกติ จะช่วยให้ภายในบ้านเย็นขึ้นและกันเสียงได้มากขึ้น หากต้องการผนังสองชั้นเพื่อเพิ่มช่องอากาศระหว่างผนังเพื่อเป็นฉนวน ก็สามารถทำได้ง่ายกว่าการทำผนังก่ออิฐฉาบปูน โดยการทำผนังเบาที่ด้านในของห้องในด้านที่แสงแดดส่องมากที่สุดอย่างทิศใต้หรือทิศตะวันตก
แขวนของหนัก ต้องเพิ่มความแข็งแรง ผนังเบาที่มีการแขวนสิ่งของหนักเช่น โทรทัศน์ กรอบรูปขนาดใหญ่ หรือชั้นวางของที่มีน้ำหนักมาก ต้องคำนึงถึงเรื่องโครงสร้างภายในผนังเบาด้วย โดยควรเสริมโครงคร่าวให้ถี่ขึ้น จากเดิมห่างกัน 60 เซนติเมตร เป็น 40 เซนติเมตร หรือ 30 เซนติเมตร โครงคร่าวแนวนอนก็เช่นกันควรเสริมในบริเวณที่มีการแขวนรูปดังกล่าวห่างกันประมาณ 40 เซนติเมตร หรือ 30 เซนติเมตรเช่นกัน ส่วนการยึดก็ยึดสิ่งที่แขวนกับโครงคร่าว ไม่ใช่ยึดกับวัสดุปิดผิวของผนังเบา เลือกแผ่นผนังให้เหมาะสม นอกจากวัสดุอย่างแผ่นไม้อัด กระเบื้องซีเมนต์ แผ่นเซโลกรีต หรือกระเบื้องแผ่นเรียบที่นิยมใช้กันมานานแล้ว ปัจจุบันยังมีวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง ติดตั้งง่าย และราคาเหมาะสมให้เลือกใช้ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ วัสดุที่ผสมระหว่างซีเมนต์กับเส้นใยธรรมชาติซึ่งนำมาอัดเป็นแผ่น มีให้เลือกทั้งผิวหน้าเรียบและผิวหน้าหยาบ รวมถึงมีหลายขนาด และหลายความหนาให้เลือกใช้แผ่นวู้ดซีเมนต์ ผลิตโดยการนำไม้ปลูกโตเร็วมาสกัดย่อยเป็นชิ้นละเอียดผสมกับซีเมนต์ให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นแผ่นโดยให้ส่วนผสมละเอียดอยู่บนผิวหน้า จึงได้ความเรียบเนียนละเอียดสวยงาม แผ่นยิปซัมบอร์ด เป็นวัสดุที่นิยมกันมานาน ด้วยคุณสมบัติที่มีผิวเรียบเพราะทำจากกระดาษกันเสียงและความร้อนได้ดี แต่อาจมีปัญหาเรื่องปลวก เนื่องจากกระดาษที่นำมาทำผิวหน้านั่นเอง
ผนังเบาแบบอื่นๆ ผนังเบายังหมายรวมถึงฉากกั้นพื้นที่ในแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพีวีซี อะลูมิเนียม บานเหล็กบานกระจก บานไม้ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบบานเลื่อนบานเฟี้ยม และบานเปิด ทั้งหมดเป็นแบบกึ่งสำเร็จรูป การติดตั้งจำเป็นต้องมาที่หน้าไซต์งานและคำนวณเปรียบเทียบกับชิ้นงานว่าสามารถติดตั้งได้พอดีหรือไม่ ต้องเพิ่มชิ้นส่วนใดเพื่อให้การกั้นห้องนั้นสมบูรณ์ ผนังประเภทนี้ใช้กั้นพื้นที่แบบชั่วคราว คือสามารถถอดออกและติดตั้งใหม่ได้ไม่ยากนัก สำคัญที่รอยต่อแผ่นผนัง รอยต่อแผ่นผนังจะเป็นจุดที่เกิดการแตกร้าวมากที่สุด เนื่องจากหลายสาเหตุ ทั้งการหดและขยายตัวของวัสดุ การทรุดตัวของโครงสร้าง และการกระทบกระเทือนจากแรงภายนอก หากเป็นผนังเบาที่ต้องการให้ผนังเรียบเนียนทั้งผืนก็ต้องใช้วัสดุยาแนวที่เหมาะสม เช่น วอลล์พุตตี้ (WallPutty) เป็นผลิตภัณฑ์อะคริลิกพิเศษมีความยืดหยุ่นสูง ยึดเกาะดี ขัดแต่งเนื้อผิวได้ง่าย เหมาะสำหรับการซ่อมแซมโดยการฉาบโป๊อุดรอยเจาะตะปู รอยต่อรอยแตกร้าว รอยแตกลายงาของผนังปูนฉาบ เพื่อให้พื้นผิวผนังหน้างานเรียบเนียน สวยงาม ก่อนการทาสีทับ หรือจะใช้อะคริลิกยาแนวสำหรับร่องเล็กและทาสีทับในภายหลัง หรือจะเว้นร่องห่างประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร และไม่ต้องยาแนวก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้งานดูเรียบร้อย
ขอบคุณบ้านและสวน ฉบับเดือนสิงหาคม คอลัมน์ สถาปัตยกรรม www.baanlaesuan ภาพประกอบ จากอินเตอร์เนต
-------------------------------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น